การจะเมามากเมาน้อย จึงขึ้นกับปริมาณแอลกอฮอล์ในน้ำเมานั้น โดยทั่วไป เบียร์จะมีแอลกอฮอล์ประมาณร้อยละ 2-5, น้ำตาลเมาและเหล้าองุ่น จะมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 10, เหล้าโรงหรือเหล้า 28 ดีกรี จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 28, เหล้าผสม เช่น แม่โขง กวางทอง จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 35, เหล้าขาว 40 ดีกรี จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 40, วิสกี้และบรั่นดี จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 40-50 เป็นต้น
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เหล้ามีฤทธิ์กระตุ้นร่างกาย ทำให้มีความสุข ลืมความทุกข์ จึงสนุกสนาน เฮฮาร่าเริง แต่อันที่จริงแล้ว เหล้าไม่ได้ไปกระตุ้นประสาท หรือสมองเลย มันกลับไปกดประสาทและสมองเป็นระยะ ๆ ดังนี้
ระยะแรก
จะไปกดสมองส่วนที่ควบคุมความคิด และสมองส่วนที่คอยยับยั้ง ควบคุมให้มีความระมัดระวัง เมื่อสมอง 2 ส่วนนี้ถูกเหล้ากดบังคับไว้ไม่ให้ทำงาน บุคคลผู้นั้นก็จะหมดความยับยั้งชั่งใจ และไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกต่อไป ทำให้พูดจาเอะอะ โผงผาง ที่เคยเป็นคนขี้อายหรือเงียบขรึม พอเหล้าเข้าปากแล้ว กลับหน้าด้านหรือพูดมากจนคนอื่นรำคาญ
เมื่อสมองส่วนที่คอยทำให้คนเราต้องคอยระวังกิริยามารยาทของตน ถูกเหล้ากดบังคับไว้ไม่ให้ทำงาน คนที่กินเหล้าจึงเกิดความรู้สึกสบายที่ไม่ต้องสำรวมกาย วาจา และใจ อีกต่อไป อารมณ์ที่ตึงเครียดก็จะถูกระบายออก ทำให้ความกระวนกระวายหรือความกังวลห่วงใยลดลง รู้สึกเหมือนกับว่าตนมีอิสรเสรีเต็มที่ และปล่อยตัวปล่อยใจตามสบาย
ฤทธิ์ของเหล้าอันนี้นั่นเองที่ทำให้คนติดเหล้า เพราะกินเหล้าแล้วทำให้หมดทุกข์ รู้สึกสนุกสนาน สำราญ และมีอิสรเสรีอย่างที่ตนเองก็ไม่เข้าใจ แต่ก็ฤทธิ์ของเหล้าอันนี้อีกนั่นแหละที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทตีรันฟันแทงหรือเหตุรุนแรงอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะเหล้าทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ และทำให้เกิดความประมาทอย่างที่มีคนพูดว่า “พอเหล้าเข้าปาก เห็นช้างเท่าหมู” เป็นต้น
ระยะแรกนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงประมาณ 30-50 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 ซี.ซี. เช่น จากการดื่มเบียร์ประมาณ 1-2 ขวดใหญ่ หรือเหล้าประมาณ 2-4 ก๊ง แต่ฤทธิ์ของเหล้าหรือน้ำเมาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า มากหรือน้อย ย่อมขึ้นกับความเคยชิน (ความจัดเจน) ต่อเหล้าหรือน้ำเมาของคน ๆ นั้นด้วย
ระยะที่สอง
สมองจะถูกกดมากขึ้น ทำให้สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและการพูดถูกกดไปด้วย จึงเกิดอาการพูดไม่ชัด แบบที่เรียกว่าพูดอ้อแอ้ ลิ้นไก่สั้น เดินโซเซหกล้มหกลุก ประสาทการรับรู้ช้ากว่าปกติ ทำให้แก้ไข หรือหลีกเลี่ยงอันตรายต่าง ๆ ไม่ทัน จึงเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ง่าย หรือไม่ก็ก่อให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุขึ้นเอง เพราะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหว ตลอดจนมือเท้า และ แขนขาของตนเองได้อย่างในเวลาที่ไม่เมาเหล้า
ระยะที่สองนี้ จะเกิดขึ้น เมื่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงประมาณ 100 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 ซี.ซี. เช่น จากการดื่มเบียร์ประมาณ 4-6 ขวดใหญ่ หรือเหล้าประมาณ 1 / 3-1 / 2 ขวดใหญ่ แต่ฤทธิ์ของเหล้าหรือน้ำเมาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้ามากหรือน้อย ย่อมขึ้นกับความเคยชินต่อเหล้าหรือน้ำตาลเมาของคนนั้นด้วย
ระยะที่สองนี้ จึงเป็นระยะที่เริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น เรียกว่าเมาเหล้า ในบางประเทศถ้าเขาตรวจเลือดพบความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซี.ซี. เขาจะถือว่าเป็นการเมาเหล้าแล้ว และถ้าเป็นเช่นนั้นในขณะขับรถ อาจจะถูกจำคุกและริบใบอนุญาตขับขี่ด้วย
ระยะที่สาม
สมองจะถูกกดมากขึ้น ๆ จนช่วยตัวเองเกือบไม่ได้เลย ถอดเสื้อถอดรองเท้าเองก็ไม่ได้ขึ้นยืนเองก็ไม่ได้ นั่งตรง ๆ ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องฟุบกับโต๊ะ หรือนอนแผ่อยู่ตรงนั้นเอง ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดในระยะนี้จะสูงประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซี.ซี.
ระยะที่สี่ สมองที่สำคัญ สำหรับการมีชีวิตอยู่เริ่มจะถูกกด เกิดอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว แล้วในที่สุดจะหมดสติและไม่รู้สึกตัวโดยสมบูรณ์ (โคม่า) สมองส่วนที่ควบคุมหัวใจและการหายใจจะถูกกดทำให้หายใจไม่สะดวก หายใจช้า หรือหายใจเป็นพัก ๆ จนกระทั่งหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น ทำให้ถึงแก่ความตาย ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดในระยะนี้จะสูงถึง 400-500 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซี.ซี.
พิษของเหล้าต่อสมองและระบบประสาทที่กล่าวมาข้างต้น เป็นพิษที่เกิดขึ้นทันที ส่วนพิษเรื้อรังที่เกิดขึ้น จะทำให้สติปัญญาเสื่อมลง มือไม้สั่น กล้ามเนื้อไม่มีแรง และถ้าเป็นมาก ๆ อาจจะเกิดอาการเหน็บชาและเป็นอัมพาตได้
ยาแก้เมาเหล้า: ผลกระทบจากการ “เมา” ที่มีต่อ “สมอง” อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://mmed.com/