ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ลมพิษ (Urticaria)  (อ่าน 25 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 344
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ลมพิษ (Urticaria)
« เมื่อ: วันที่ 29 สิงหาคม 2024, 19:28:17 น. »
หมอออนไลน์: ลมพิษ (Urticaria)

ลมพิษ เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้ จะสร้างสารแพ้ที่เรียกว่า ฮิสตามีน (histamine) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว มีพลาสมา (น้ำเลือด) ซึมออกมาในผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นผื่นนูนแดง

มักมีสาเหตุจากการแพ้อาหาร* (เช่น อาหารทะเล กุ้ง ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ ถั่ว มะเขือเทศ ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เป็นต้น) สารที่ผสมในอาหาร (เช่น ผงชูรส สารกันบูด สีผสมอาหาร) เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ยา (เช่น แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อีนาลาพริล เพนิซิลลิน ซัลฟา เป็นต้น) เซรุ่ม วัคซีน พิษแมลงสัตว์กัดต่อย (เช่น ผึ้ง ต่อ มด ยุง เป็นต้น) ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ นุ่น (ที่นอน หมอน) ไหม หรือสารเคมี (เช่น เครื่องสำอาง สเปรย์ ยาฆ่าแมลง เป็นต้น)

บางรายที่เป็นโรคติดเชื้อ เช่น ทอนซิลอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน ไซนัสอักเสบ ไตอักเสบ โรคเชื้อรา โรคพยาธิ เป็นต้น ก็อาจมีอาการของลมพิษเกิดขึ้นได้

แต่บางรายก็อาจตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน

ในรายที่เป็นลมพิษเรื้อรัง (เป็นติดต่อกันนานเกิน 2 เดือน) ส่วนมากจะไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนน้อยที่อาจพบว่ามีสาเหตุ ซึ่งนอกจากเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าว (โดยเฉพาะแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) แล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากการแพ้ความร้อน ความเย็น (น้ำเย็น น้ำแข็ง อากาศเย็น ห้องปรับอากาศ) แสงแดด เหงื่อ (เช่น หลังจากออกกำลังกาย) น้ำ แรงดัน แรงกด หรือการขีดข่วนที่เกิดกับผิวหนัง การยกน้ำหนัก โรคติดเชื้อเรื้อรัง (เช่น ฟันผุ โรคพยาธิลำไส้ ตัวจี๊ด หูน้ำหนวก)

บางรายอาจเกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น เอสแอลอี มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้เป็นส่วนน้อย

นอกจากนี้ ความเครียด ความวิตกกังวล และอารมณ์ของผู้ป่วย ก็อาจเป็นสาเหตุของลมพิษเรื้อรังได้ รวมทั้งทำให้อาการลมพิษกำเริบในรายที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ

*อาการแพ้ที่เกิดจากอาหาร เรียกว่า แพ้อาหาร (food allergy) พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ (เช่น หวัดภูมิแพ้ หืด ลมพิษ ผื่นคัน) หรือมีพ่อแม่เป็นโรคแพ้อาหาร

สาเหตุ เกิดจากการแพ้สารโปรตีนในอาหาร ส่วนใหญ่ได้แก่ นมวัว ไข่ ปลา กุ้ง หอย ปู ข้าวสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดอัลมอนด์

อาการ อาการแพ้อาหารอาจเริ่มตั้งแต่วัยทารก โดยหลังกินอาหารที่แพ้จะมีอาการลมพิษ ผื่นคัน หรือผิวหนังบวมคัน อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการคัดจมูก หอบหืด เป็นลม ถ้าเป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ (anaphylactic shock)

ทารกที่เป็นโรคนี้ อาการลมพิษผื่นคันจะลดลงเมื่ออายุประมาณ 1 ปี และมักจะหายดีเมื่ออายุประมาณ 10 ปี แต่อาจมีอาการของหวัดภูมิแพ้หรือโรคหืดมากขึ้น

ในผู้ใหญ่ที่แพ้อาหาร มักมีอาการลมพิษ ผื่นคัน บวมคันตามหนังตา รอบปาก บางรายอาจเป็นหวัดภูมิแพ้หรือโรคหืด ในรายที่เป็นรุนแรงแม้กินอาหารที่แพ้ (เช่น กุ้ง หอย ปู ถั่วลิสง) แต่เพียงเล็กน้อยหรือเจือปนอยู่ในอาหารอื่นโดยบังเอิญ ก็อาจมีอาการแพ้รุนแรง เช่น ลมพิษยักษ์ (angioedema) ซึ่งอาจมีอาการบวมของกล่องเสียง (เกิดอาการหายใจลำบาก ตัวเขียว) หรือถึงขั้นช็อกจากการแพ้ เป็นอันตรายได้

การรักษา ให้กินยาแก้แพ้ ถ้าเป็นรุนแรงอาจต้องฉีดยาแก้แพ้หรืออะดรีนาลิน ทางที่ดีผู้ป่วยควรพกยาแก้แพ้และยาฉีดอะดรีนาลินติดตัวไว้ใช้ได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดอาการแพ้อาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกินอาหารนอกบ้าน

การป้องกัน หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ถ้าแพ้รุนแรงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารตามร้านอาหารหรืองานเลี้ยง เนื่องเพราะอาจมีอาหารที่แพ้เจือปนโดยบังเอิญ

ในทารกที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้หรือมีพ่อแม่เป็นโรคแพ้อาหาร ควรกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด นมวัวควรเริ่มให้เมื่ออายุมากกว่า 1 ปี ควรเริ่มให้กินไข่ เมื่ออายุมากกว่า 2 ปี และเริ่มให้ถั่วลิสงและปลา เมื่ออายุมากกว่า 3 ปี

มารดาขณะตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการกินถั่วลิสง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดอัลมอนด์

มารดาที่ให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการกินกุ้ง หอย ปู ถั่วลิสง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดอัลมอนด์