ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ซาร์ส (SARS)  (อ่าน 49 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 411
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ซาร์ส (SARS)
« เมื่อ: วันที่ 4 สิงหาคม 2024, 21:26:31 น. »
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ซาร์ส (SARS)

ซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง* (severe acute respiratory syndrome/SARS) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่พบระบาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2546 พบมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 8,098 ราย จาก 26 ประเทศ ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเสียชีวิต 774 ราย ส่วนใหญ่พบระบาดในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน แคนาดา เวียดนาม และสิงคโปร์

ในการระบาดใหญ่ทั่วโลกในครั้งนั้น ได้มีมาตรการควบคุมโรคอย่างได้ผล และปลอดจากผู้ป่วยรายใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย และมักมีความรุนแรงในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีภูมิต้านทานโรคต่ำ

*มีชื่อเรียกอื่น เช่น ไข้หวัดมรณะ ปอดบวมมรณะ ปอดอักเสบนอกแบบ (atypical pneumonia)

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสตัวใหม่ซึ่งอยู่ในตระกูลไวรัสโคโรนา (coronaviruses) ไวรัสตระกูลนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เคยพบในคนนั้นเป็นต้นเหตุของการเกิดไข้หวัดที่ไม่รุนแรง ส่วนสายพันธุ์ที่เคยพบในสัตว์ (สุนัข แมว หมู หนู นก) นั้นอาจทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ตับ ลำไส้ของสัตว์เหล่านี้

ส่วนเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้เป็นเชื้อที่กลายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เชื่อว่าแพร่มาจากสัตว์ป่าบางชนิด (ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชนิดใด) นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อเชื้อนี้ว่า ไวรัสโคโรนาสัมพันธ์กับซาร์ส (SARS-associated corona-virus/SARS-CoV) เรียกสั้น ๆ ว่า ไวรัสซาร์ส เชื้อชนิดนี้พบก่อโรคครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน แล้วแพร่กระจายไปทั่วโลก

การแพร่เชื้อ จากลักษณะการติดต่อของโรคที่พบ แพร่กระจายเฉพาะในหมู่คนที่อยู่สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด เช่น แพทย์ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย ญาติมิตรที่อยู่ในบ้านหรือห้องเดียวกันกับผู้ป่วย ผู้ที่อยู่ด้วยกันในห้องแคบ (เช่น ลิฟต์) เป็นต้น ทำให้สันนิษฐานว่า เชื้อไวรัสซาร์สแพร่กระจายทางละอองเสมหะขนาดใหญ่ (droplet transmission) แบบเดียวกับไข้หวัด กล่าวคือ โดยการไอจามรดใส่กันตรง ๆ ภายในระยะไม่เกิน 3 ฟุต (ประมาณ 1 เมตร) และโดยการสัมผัสมือ หรือสิ่งปนเปื้อนละอองเสมหะของผู้ป่วย เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อนส้อม ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น (เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถมีชีวิตอยู่บนสิ่งปนเปื้อนได้นานถึง 3 ชั่วโมง) แล้วเผลอนำนิ้วมือที่เปื้อนละอองเสมหะนั้นเช็ดตา เช็ดจมูก เชื้อโรคก็จะผ่านทางเยื่อเมือกเข้าไปในทางเดินหายใจ

ส่วนการแพร่เชื้อทางอากาศ (airborne transmission) และทางอาหารและน้ำดื่มนั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่ก็ยังไม่สามารถตัดออกไปได้

ระยะแพร่เชื้อ ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นตั้งแต่เริ่มมีอาการเป็นไข้ในวันแรก และในวันที่ 4 หลังเป็นไข้จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น ส่วนระยะก่อนและหลังมีอาการนานกี่วันที่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ยังไม่ทราบแน่ชัด เพื่อความปลอดภัยแนะนำว่าผู้ที่หายจากอาการเจ็บป่วยควรแยกตัวนานอีก 10 วัน

ระยะฟักตัว 2-10 วัน (เฉลี่ย 4-6 วัน) บางรายอาจนาน 10-14 วัน

ในการเฝ้าระวังคนที่สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ เช่น เดินทางจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค จะต้องรอดูอาการอย่างน้อย 10 วัน เมื่อพบว่าเป็นปกติดีก็ถือว่าไม่ได้ติดเชื้อ


อาการ

แรกเริ่มจะมีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวมาก เบื่ออาหาร คล้ายไข้หวัดใหญ่ บางรายอาจมีอาการท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอหรือเจ็บหน้าอกร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเป็นหวัด (เช่น จาม มีน้ำมูก)

2-7 วันหลังมีไข้ ผู้ป่วยจะมีอาการไอแห้ง ๆ ในรายที่เป็นรุนแรงถึงขั้นเป็นปอดอักเสบ ก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจหอบ หายใจลำบากตามมา อาการรุนแรงมักเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 ของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ปอดอักเสบจะค่อย ๆ หายไปเองอย่างช้า ๆ และมักจะหายในสัปดาห์ที่ 3 ของโรค

ส่วนผู้ที่เป็นเล็กน้อย จะมีเพียงอาการไข้อยู่ประมาณ 4-7 วันก็หายไปเองคล้ายอาการไข้ธรรมดา อาจทำให้ไม่นึกถึงโรคนี้


ภาวะแทรกซ้อน

ที่ร้ายแรง ได้แก่ กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome/ARDS) ซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ

ร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาล มีภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย (hypoxia) และจำเป็นต้องใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ไข้ ≥ 38 องศาเซลเซียส และอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ชัดเจน

ในรายที่เป็นรุนแรงอาจพบอาการหายใจหอบ

การใช้เครื่องฟังตรวจปอดมักไม่ได้ยินเสียงผิดปกติชัดเจน

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจหาร่องรอยของไวรัสซาร์สในเลือด น้ำลาย หรือเสมหะ ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น reverse transcriptase-polymerase chain reaction (RT-PCR), ELISA การแยกเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยง (cell culture), microneutralization test เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด อาจพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ เอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูงกว่าปกติ 2-6 เท่า creatine phosphokinase สูงกว่าปกติ

การเอกซเรย์ปอดอาจพบร่องรอยของปอดอักเสบ


การรักษาโดยแพทย์

ถ้าพบผู้ป่วยมีไข้ และมีประวัติว่าก่อนหน้านี้ภายใน 10 วันได้เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยเป็นโรคนี้ ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว

ถ้าตรวจพบหรือสงสัยเป็นโรคนี้ มักจะต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และแยกตัวไม่ให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่น

การรักษา ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโดยจำเพาะ เพียงให้การรักษาตามอาการ ถ้ามีอาการหายใจลำบากก็ใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าจะพ้นขีดอันตราย

ในประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ได้มีการทดลองให้ยาต้านไวรัส (เช่น interferon, ribovirin, oseltamivir, lopinavir/ritonavir) ร่วมกับยาสเตียรอยด์ และบางรายให้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมอาการปอดอักเสบ วิธีการเหล่านี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิผลของการรักษา


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้หลังจากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือเพิ่งกลับจากการเดินทางไปยังประเทศหรือเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคซาร์ส ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์


การป้องกัน

1. ดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดแอลกอฮอล์และบุหรี่ อย่ากินยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสารสเตียรอยด์

2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศหรือเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ร่วมกับผู้อื่น หรือในที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่เพื่อชะเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับมือโดยไม่รู้ตัว หลีกเลี่ยงการใช้มือขยี้ตา แคะจมูก หรือนำนิ้วมือเข้าปาก ใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น และอย่าใช้ผ้าเช็ดตัวหรือผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น

3. ถ้าหากมีผู้ป่วยซาร์สระบาดภายในประเทศเรา ก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น และถ้ามีคนในบ้านมีอาการไข้ที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดก็ควรรีบพาไปโรงพยาบาล ควรหลีกเลี่ยงการจับมือกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้ข้าวของเครื่องใช้กับผู้ป่วย ควรนอนแยกห้องกับผู้ป่วย เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทได้สะดวก ทำความสะอาดบ้าน เครื่องเรือน เครื่องใช้ โทรศัพท์ อย่างน้อยวันละครั้งด้วยผ้าชุบน้ำสบู่หรือผงซักฟอก

ป้องกันโรคซาร์สด้วยการล้างมือและสวมหน้ากากอนามัย


ข้อแนะนำ

1. โรคนี้มีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป ร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งจะหายได้เป็นปกติภายใน 2-3 สัปดาห์

ประมาณร้อยละ 10-20 จะมีอาการหนัก คือ หายใจลำบาก ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประคับประคองจนกว่าจะพ้นขีดอันตราย กลุ่มนี้มักจะต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนาน 2-3 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย

ประมาณร้อยละ 10 จะเสียชีวิต กลุ่มนี้มักมีอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ พบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปีที่เป็นโรคซาร์สมักจะเป็นไม่รุนแรงและหายได้เอง ส่วนผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีมีอัตราตายถึงร้อยละ 50

2. ในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้ ผู้ที่เดินทางจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคควรเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 10 วัน ถ้าเป็นไปได้ควรวัดไข้ด้วยปรอททุกวัน ถ้าพบว่ามีไข้ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

3. แพทย์และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยซาร์ส จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด (เช่น สวมถุงมือ ใส่เสื้อกาวน์ ใส่แว่นตาป้องกันการติดเชื้อ หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่) เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้ป่วยอย่างมาก

4. ถึงแม้ในปัจจุบันไม่มีรายงานการเกิดผู้ป่วยซาร์สรายใหม่มานานหลายปี แต่ควรติดตามเฝ้าระวัง หากมีผู้ป่วยเกิดขึ้นใหม่จะได้ระมัดระวังหาทางป้องกันไม่ให้เป็นโรคร้ายแรงชนิดนี้


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 4 สิงหาคม 2024, 21:29:19 น. โดย siritidaphon »