มะเร็งทวารหนัก คือ การเกิดเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็งขึ้นบริเวณทวารหนัก ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือลำไส้ตรง ผู้ป่วยมักมีอาการถ่ายเป็นเลือด ปวดและคันบริเวณทวารหนัก เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้ค่อนข้างน้อย
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายแสง เป็นต้น แต่หากปล่อยไว้ มะเร็งอาจลุกลามไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกายและเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ โดยโอกาสในการรักษาให้หายขาดนั้นขึ้นอยู่กับความเร็วในการตรวจพบด้วย
อาการของมะเร็งทวารหนัก
อาการหลักของมะเร็งทวารหนักมักคล้ายกับอาการของโรคริดสีดวงทวารหรือโรคในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ คือ มีเลือดออกทางทวารหนัก และอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระด้วย รวมถึงอาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
ขับถ่ายผิดปกติ
มีก้อนเนื้อบริเวณทวารหนัก
ปวดบริเวณทวารหนัก หรืออาจมีอาการคันร่วมด้วย
อุจจาระมีขนาดเล็กและเรียวบาง
มีสารคัดหลั่งไหลออกจากทวารหนักอย่างเรื้อรัง
เนื่องจากอาการส่วนใหญ่คล้ายกับโรคทางเดินอาหารอื่น ๆ จึงทำให้การวินิจฉัยมะเร็งทวารหนักเป็นไปได้ช้า แต่หากผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อความรวดเร็วในการตรวจพบโรคและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วย
สาเหตุของมะเร็งทวารหนัก
สาเหตุหลักมักเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น มะเร็งปากมดลูก และหูดที่อวัยวะเพศ เป็นต้น ซึ่งจะติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งทวารหนัก คือ HPV-16 และ HPV-18
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งทวารหนักได้ ดังนี้
มีอายุมากกว่า 50 ปี
สูบบุหรี่
มีประวัติเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด หรือมะเร็งช่องคลอด
มีปัญหาภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เคยผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
มีพฤติกรรมทางเพศในทางที่เสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เป็นต้น
การวินิจฉัยมะเร็งทวารหนัก
การวินิจฉัยในเบื้องต้นจะเริ่มจากการสอบถามประวัติของคนไข้ ทั้งประวัติการป่วย การใช้ยา ประวัติที่เกี่ยวกับการเกิดโรคมะเร็ง หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง จากนั้นจะมีการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
การตรวจทางทวารหนักด้วยนิ้วมือ แพทย์จะตรวจโดยใช้นิ้วสอดเข้าไปในทวารหนัก เพื่อคลำหาก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติ ซึ่งจะทำให้แพทย์วินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาในขั้นต่อไปได้
การตรวจเลือด เป็นการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจดูความสมบูรณ์ของเลือด ได้แก่ ปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด รวมถึงตรวจหาสารเคมีต่าง ๆ ในเลือด ซึ่งอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกายหรือสัญญาณของการติดเชื้อต่าง ๆ
การตรวจอัลตราซาวด์ จะใช้เครื่องมือขนาดเล็กสอดเข้าไปทางทวารหนักและปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพขึ้นมา โดยแพทย์จะตรวจบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก เพื่อหาก้อนเนื้อหรือความผิดปกติอื่น ๆ
การส่องกล้อง เป็นการตรวจหาความผิดปกติภายในทวารหนักและลำไส้ใหญ่ด้วยการใช้กล้องขนาดเล็กสอดเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อดูว่ามีเลือดออก ก้อนเนื้อ หรือความผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่
การตรวจชิ้นเนื้อ ในกรณีที่พบความผิดปกติของทวารหนัก เช่น พบก้อนเนื้อ หรือมีเลือดออก เป็นต้น แพทย์จะตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อในบริเวณที่มีความผิดปกติไปตรวจโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์
โรคมะเร็งระทวารหนัก อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/