ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)  (อ่าน 32 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 412
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)
« เมื่อ: วันที่ 20 พฤศจิกายน 2024, 16:38:43 น. »
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)

ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) คือภาวะสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อโรค การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผิดปกติไปโดยการไปทำลายเซลล์สมอง หรือการถูกแมลงบางชนิดกัดต่อย โดยโรคนี้จัดเป็นโรครุนแรงที่อาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีอาการที่รุนแรงขึ้นหรือเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

ไข้สมองอักเสบเป็นโรคที่สามารถเกิดได้ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยโรคนี้อาจมีโอกาสเกิดมากขึ้นได้ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากยุงเป็นหนึ่งในพาหะของโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงอื่นของปี ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อนหรือฤดูหนาวก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน


อาการไข้สมองอักเสบ

อาการไข้สมองอักเสบมีหลายระดับ ตั้งแต่อาการทั่วไป ไปจนถึงอาการขั้นรุนแรง โดยในช่วงแรก อาการมักจะเริ่มจากอาการทั่วไปก่อน ได้แก่ อ่อนแรง มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามข้อต่อ ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีผื่นหรือตุ่มน้ำพองใสขึ้นที่ผิวหนัง

จากนั้น อาการจะเริ่มมีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ซึ่งผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้

    มีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น เรื่องบุคคล เวลา และสถานที่
    เคลื่อนไหวช้าลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือร่างกายบางส่วนเริ่มไร้ความรู้สึก
    มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ร้อนรน กระวนกระวาย เห็นภาพหลอน
    ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ร่วมกับมีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
    มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพซ้อน หรือการขยับลูกตา ดวงตาไวต่อแสง
    มีปัญหาด้านการได้ยินและการพูด พูดลำบาก
    อ่อนเพลีย ง่วงนอน เซื่องซึม คอเคล็ด
    ชัก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เรียกไม่ตื่น

นอกจากนี้ เนื่องจากไข้สมองอักเสบสามารถเกิดได้ในทารกหรือเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่อาจยังสื่อสารกันได้ยาก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองของเด็กเล็กควรสังเกตอาการของบุตรหลาน และนำเด็กไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการดังต่อไปนี้

    กระหม่อมทารกโป่งตึง
    คลื่นไส้และอาเจียน
    ร่างกายแข็งเกร็ง หรือขยับตัวไม่ได้
    อารมณ์ฉุนเฉียว งอแง ร้องไห้ไม่หยุด
    ไม่ยอมรับประทานอาหาร ซึม ไม่ตื่นตัว


สาเหตุของไข้สมองอักเสบ

ผู้ป่วยไข้สมองอักเสบหลาย ๆ คนมักหาสาเหตุของการเกิดโรคไม่พบ แต่ในกรณีที่พบสาเหตุ เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุมักอยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้

    ไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) แบ่งได้ 2 ประเภท คือไวรัสเริม HSV–1 เป็นตัวการทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้มีไข้ เป็นแผล หรือตุ่มใสบริเวณปาก และไวรัสเริม HSV–2 เป็นตัวการทำให้เกิดแผลเริมบริเวณอวัยวะเพศ ไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสเริม HSV–1 พบได้น้อยแต่ทำให้สมองเสียหายและเสียชีวิตได้
    ไวรัสเริมชนิดอื่น ๆ เช่น ไวรัสเอ็ปสไตบาร์ (Epstein–Barr Virus) เป็นสาเหตุของโรคโมโนนิวคลิโอสิส (Infectious Momonucleosis) และไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ หรือไวรัสวีซีววี (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด
    เอนเทอร์โรไวรัส (Enteroviruses) รวมถึงโปลิโอไวรัส (Poliovirus) และค็อกแซกกีไวรัส (Coxsackievirus) เป็นสาเหตุของอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ตาแดงอักเสบ และปวดท้อง
    เชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ (Mosquito–Borne Viruses) เช่น ไข้เลือดออก 
    เชื้อไวรัสเจอี (Japanese Encephalitis Virus)
    ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) โดนสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ากัด
    การติดเชื้อที่พบมากในวัยเด็ก เช่น โรคคางทูมจากไวรัสมัมส์ (Mumps) โรคหัดจากไวรัสมีเซิลส์ (Measles) หรือโรคหัดเยอรมันจากไวรัสรูเบลลา (Rubella) ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีน MMR เพื่อป้องกันการเกิดโรคคางทูม หัด และหัดเยอรมันในเด็กอายุ 9–12 เดือน และ 4–6 ปี ทำให้พบผู้ป่วยไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อเหล่านี้น้อยลง


การวินิจฉัยไข้สมองอักเสบ

ในการวินิจฉัยไข้สมองอักเสบ ขั้นแรกแพทย์จะดูประวัติของผู้ป่วยว่ามีอาการของไข้สมองอักเสบหรือไม่ อยู่ในภาวะเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหรือไม่ ประวัติการรักษาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และตรวจร่างกายทางระบบประสาทและสมองอย่างละเอียด แล้วจึงทดสอบร่างกาย ดังนี้

    การตรวจสมอง ทำได้ 2 วิธี คือ การทำซีทีสแกน (CT Scan) และการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) โดยวิธีเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์เห็นลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างสมองของผู้ป่วยว่ามีสิ่งผิดปกติใด ๆ หรือไม่ เช่น เส้นเลือดในสมองแตก เนื้องอกในสมอง หรืออาการบวมในสมอง
    การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) โดยแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่บริเวณหลังส่วนล่าง แล้วสอดเข็มเข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลังที่กระดูกสันหลังส่วนล่าง เพื่อนำไปตรวจหาว่ามีลักษณะการติดเชื้อหรือการอักเสบหรือไม่
    การตรวจในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจของเหลวต่าง ๆ ในร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram) และการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองไปส่งตรวจ


การรักษาไข้สมองอักเสบ

ในการรักษาไข้สมองอักเสบ แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามสาเหตุ และรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงขึ้น โดยตัวอย่างวิธีการรักษที่แพทย์มักใช้ เช่น

    การใช้ยาต้านไวรัส ใช้ในกรณีที่มีสาเหตุจากไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) หรือไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด โดยตัวอย่างยาก็เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาแกนซิโคลเวียร์ (Ganciclovir) และยาฟอสคาเนต (Foscarnet)
    การฉีดสเตียรอยด์ ใช้ในกรณีที่มีสาเหตุเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
    การบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin Therapy) เป็นการรักษาโดยให้ยาที่ช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
    การฟอกเลือด (Plasmapheresis) เพื่อกำจัดพิษออกจากร่างกาย หรือเชื้อที่แฝงอยู่ในเลือดซึ่งจะไปทำลายสมอง วิธีนี้ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยการบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin therapy) แล้วอาการไม่ดีขึ้น
    การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อรา ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือป้องกันเชื้อรา

ในบางกรณีไข้สมองอักเสบอาจส่งผลให้ร่างกายของผู้ป่วยมีความเครียด ซึ่งอาจนำไปสู่อาการต่าง ๆ ตามมาได้ แพทย์จึงอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาอื่นเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยแต่ละราย โดยตัวอย่างการรักษาที่แพทย์มักใช้ เช่น

    การใช้เครื่องช่วยหายใจ  เพื่อช่วยการทำงานของปอด
    การให้สารน้ำ (Intravenous Fluids) เพื่อรักษาปริมาณน้ำและระดับแร่ธาตุในร่างกายให้เหมาะสม
    การใช้ยาแก้อักเสบ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อช่วยลดความดันและอาการบวมในกระโหลกศีรษะ
    การใช้ยากันชัก เช่น ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) เพื่อป้องกันหรือระงับอาการชัก

ทั้งนี้ ผู้ป่วยไข้สมองอักเสบยังอาจจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญร่วมไปกับการรักษาด้วย เนื่องจากการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยอาจทำได้ช้า ยาก และใช้เวลานานกว่าจะหายกลับมาเป็นปกติ โดยการรักษาที่ผู้ป่วยอาจได้รับ ได้แก่

    การฟื้นฟูอาการบาดเจ็บที่สมอง โดยนักประสาทจิตวิทยา (Neuropsychologist)
    การบำบัดเกี่ยวกับการพูด เพื่อช่วยฟื้นฟูการควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดและการสื่อสาร
    การทำกิจกรรมบำบัด เพื่อพัฒนาทักษะและนำใช้ในชีวิตประจำวัน
    การทำกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ความสมดุล รวมไปถึงพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกาย
    การทำจิตบำบัด เพื่อเรียนรู้วิธีการเผชิญหน้ากับปัญหา สร้างพฤติกรรมใหม่ที่จะช่วยพัฒนาอารมณ์ หรือในบางกรณี อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการใช้ยา


ภาวะแทรกซ้อนของไข้สมองอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนของไข้สมองอักเสบที่อาจพบได้ ได้แก่

    ปัญหาด้านความจำ
    ปัญหาด้านบุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมเปลี่ยน
    ปัญหาด้านการพูดและการใช้ภาษา
    ปัญหาด้านการกลืน
    ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น เครียด วิตก ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน
    ปัญหาด้านสมาธิ ความสนใจ การวางแผน การแก้ปัญหา
    ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การทรงตัว การเกร็งของกล้ามเนื้อ ความพิการ การเป็นอัมพาต
    อาการชัก


การป้องกันไข้สมองอักเสบ

การป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดไข้สมองอักเสบสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    สร้างสุขอนามัยที่ดีด้วยการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่า โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนมื้ออาหาร 
    ไม่ใช้ช้อน ส้อม หรือแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
    ฉีดวัคซีนเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ที่อัตราเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
    รับวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น ก่อนการเดินทางไปยังประเทศในแถบเอเชีย
    รับวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบจากเห็บ ก่อนเดินทางไปยังประเทศในแถบเอเชียและยุโรป
    รับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ก่อนเดินทางไปยังประเทศที่มีข้อจำกัดด้านการแพทย์และการรักษา
    ไม่ควรมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในที่พักอาศัย เช่น การมีน้ำขัง
    สำหรับเด็กเล็ก ควรให้เด็กได้รับวัคซีนตามที่แพทย์แนะนำ